Background



• ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
27 ตุลาคม 2566

0


ตำนานเมืองทุ่งยาว

ความเป็นมา

ทุ่งยาวเป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียง และเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง มีตำนานเล่าขานกันมาหลายชั่วอายุคน ประชาชนมีวิถี ชีวิตเรียบง่ายรักสงบ ขยันทำมาหากิน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมันสร้างรายได้ สร้างชุมชน จนมีความเข้มแข็ง มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประเพณีโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของชาวตรัง และสังคมทั่วไปในวงกว้าง ซึ่งชาวทุ่งยาวภาคภูมิใจอย่างยิ่ง หากแต่เกียรติภูมิที่ผู้คนกล่าวขาน และสังคมยอมรับ

นั้นยังไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นมาในอดีต เพื่อสร้างรอยต่อแห่งตำนานเมืองทุ่งยาวให้ถูกต้องและสมบูรณ์ได้ เทศบาลตำบลทุ่งยาว โดยฝ่ายบริหารจึงมีแนวคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับเล่าเรื่องเมืองทุ่งยาวขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจการสร้างบ้าน สร้างเมืองของบรรพบุรุษ และสามารถยกระดับเมืองทุ่งยาวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอนาคต ทั้งยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าของเมืองทุ่งยาวได้อีกด้วย

บรรพชนคนรุ่นแรก

จากการบอกเล่าของอาก๋ง อาม่า และญาติผู้ใหญ่ทำให้ทราบว่าคนกลุ่มแรก ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวทุ่งยาวได้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับคนจีนโพ้นทะเล ที่อพยพไปยังภูมิภาคอื่น ระหว่างปี พ.ศ. 2455-2460 ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระมหาจักรพรรดิ์ หรือฮองเต้ปกครอง เป็นระบอบสาธารณรัฐปกครองโดยประธานาธิบดี และยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ที่กลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อต้านรัฐบาลแบบสงครามเย็นหรือสงครามแย่งชิงมวลชน ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่ง ทำมาหากินฝืดเคืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะจำนวนประชากรมาก ยามเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบผู้คนยิ่งแร้นแค้น แตกความสามัคคี จึง หาลู่ทางอพยพหลบหนี เพื่อเสี่ยงโชคในแผ่นดินอื่น การอพยพเดินทางจึงเป็นไปตามสภาพที่คนทั่วไปมองคนจีนโพ้นทะเล ว่ามาเพียง เสื่อผืน หมอนใบ การเดินทางบ้างมาเป็นครอบครัว พร้อมลูกหลาน บ้างมาเฉพาะสามีภรรยา หรือมาคนเดียว การเดินทางใช้เรือสำเภาเป็นพาหนะใช้เวลา แล่นเรือนานเป็นแรมเดือน ฝ่าคลื่นลม บางคนเจ็บป่วยและเสียชีวิตระหว่างเดินทางก็มี โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ แม้จะพบปัญหาอุปสรรคนานาระหว่างการเดินทางแต่โชคชะตายังเข้าข้างอยู่บ้าง ญาติผู้ใหญ่ทุกคนเคยเล่าให้ลูกหลานรุ่นหลังฟังว่า ขณะเรือแล่นไปถึงบริเวณใดเป็นหาดทรายสีขาว หรือเห็นต้นไม้พุ่มไม้สีเขียว เพียงเห็นรำไรไกลเพียงใดก็พากันดีใจที่ได้เห็น ผืนแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชีวิตมีโอกาสรอด มีความหวังมีอนาคต ทำ

ให้ คลายความทุกข์ และหายเหน็ดเหนื่อยได้ชั่วขณะ และสำหรับบรรพชนของคนทุ่งยาว กลุ่มแรกๆ ได้เดินทางมาขึ้นเรือที่ท่าเรือเกาะสุกร แหลมตะเสะ หาดสำราญ หยงสตาร์ และทุ่งหว้าก่อนจะย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่ตำบลทุ่งยาวในปัจจุบันนี้ คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากที่ตำบลทุ่งยาวคือ คนตระกูลโค้ว หรือแซ่โค้ว 10 คน เข้ามาอาศัยอยู่ที่หยงสตาร์ก่อนย้ายมาอยู่ที่ทุ่งยาว และมีคนยืนยันว่า เป็นตระกูลที่เดินทางมาจากตำบลปั๊กซัวเถา อำเภอโผวเล้ง จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ต่อมาจึงมีกลุ่มอื่น และตระกูลแซ่ต่างๆ เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ภายหลัง เช่น ตระกูลแซ่ตั้ง แซ่เอี้ยว แซ่เตียว แซ่เฮง แซ่ลิ้ม แซ่อึ้ง และตระกูลอื่นๆ

อาชีพและการทำมาหากิน

บรรพชนรุ่นหลัง เล่าขานต่อกันมา และเทียบเคียงกับหลักฐานจากหนังสือที่ระลึก 72 ปีโรงเรียนบ้านหยงสตาร์ ที่อ้างอิงบันทึกรายงานทางราชการ และภาพถ่ายจึงยืนยันได้ว่าตระกูลแซ่โค้ว เป็นคนกลุ่มแรก เข้ามาอาศัยที่ตำบลทุ่งยาวราวสัก 10 คน ซึ่ง มาขึ้นเรือครั้งแรกที่ท่าเรือหยงสตาร์ หรือ เกาะตันหยงสตาร์ซึ่งตามประวัติ และตำนาน หยงสตาร์ ในยุคดังกล่าวเจริญรุ่งเรืองมาก เคยเป็นเมืองท่าเรือสำคัญ ค้าขาย กับ พ่อค้าภายใน และต่างประเทศ และยังเป็นที่ตั้งอำเภออีกด้วย ตอนแรกเรียกว่าปะลันดา หรือปาดังด้า ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าต่อมา สำเนียงเพี้ยนเป็นปะเหลียน แต่อย่างไรก็ตาม หยงสตาร์สมัยก่อนอุดมสมบูรณ์คนตระกูลแซ่โค้ว จึงตัดสินใจอาศัยอยู่ ตั้งหลักทำมาค้าขาย ตั้งโรงน้ำมันก๊าดขาย ปัจจุบันพบว่ายังมีโรงน้ำมันก๊าดอยู่ 2 แห่งจากคำบอกเล่าของคนหยงสตาร์ บอกว่าโรงน้ำมันก๊าดได้สร้างตามข้อกำหนดของประเทศสิงคโปร์อีกด้วย และยังพบหลักฐานต่างๆ ที่สอดคล้อง และยืนยันได้ว่ามีคนจีนที่อพยพมาจากที่ต่างๆ อาศัย และค้าขายอยู่ที่เกาะตันหยงสตาร์จำนวนมาก เพราะปัจจุบันยังพบหลักฐานโรงพระจีน หรือศาลเจ้าเก่าแก่ จำนวน 2 แห่ง คือโรงพระขี้แย้ง และโรงพระร้อยเก้า เพราะศาลเจ้า คือสถานที่คนจีน เคารพกราบไหว้ เป็นที่พึ่งทางใจ และใช้บำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วยปัจจุบันมีกลุ่มคนรักบ้านเกิดหยงสตาร์ มีโครงการจะอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไว้

ให้ลูกหลาน นอกนั้นยังมีหลักฐาน สถานที่ ที่ยังปรากฏอยู่จวบเท่าทุกวันนี้ คือ สุสานฝังศพ หรือภาษาถิ่น เรียกว่า เปรวจีน แต่ต่อมามีชาวมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลาม อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในหยงสตาร์มากขึ้นเรื่อยๆ คนจีนตระกูลโค้วจึงย้าย มาอยู่บริเวณทุ่งหญ้าคา หรือทุ่งยาวในปัจจุบัน และประกอบอาชีพทุกอาชีพที่สุจริต ทั้ง ทำสวน รับจ้าง ประมง กรีดยางพารา ต้มเหล้าหรือแม้ขายกาแฟ แม้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ใหม่ แต่คนทุ่งยาวสมัยนั้นก็ยังคงค้าขายติดต่อกับคนในหยงสตาร์ ท่าข้าม และทับเที่ยงซึ่งเป็นชื่อเรียกเมืองตรัง สินค้าที่ค้าขาย คือ ยางพารา พริกไทยสินค้าอุปโภค บริโภค การเดินทางใช้รถจักรยาน เดิน ยังไม่มีรถยนต์ใช้ จึงใช้เวลานาน ทั้งยังค้าขายกับต่างประเทศ เช่น ปีนังเป็นต้น